ดีอีเอส ยืนยัน “ไม่เลือกปฏิบัติ”
แจ้งเตือนโซเชียล/ออนไลน์ ปิดกั้นเนื้อหาผิดกม.
กระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาล ไปยังสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ เพื่อระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายอีก 1,024 ยูอาร์แอล ย้ำไม่มีการเลือกปฏิบัติเผยแนวโน้มเว็บ-โซเชียลผิดกฎหมายลดลง หลังเปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสผ่านเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์”
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยในการแถลงข่าวการระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ วันนี้ (26 สิงหาคม 2563) ว่ากระทรวงฯ จะมีหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก จำนวน 1,024 รายการ (ยูอาร์แอล) ไปยังสื่อออนไลน์/เว็บไซต์ต่างๆ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 661 รายการ, ยูทูบ 289 รายการ, ทวิตเตอร์ 69 รายการ และเว็บอื่นๆ จำนวน 5 รายการ โดยให้ความมั่นใจว่า มีการติดตามให้ทุกแพลตฟอร์มต้องปฎิบัติตามคำสั่งศาล กระทรวงฯ ไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา กระทรวงฯ มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนผูให้บริการอินเตอร์เน็ตและผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ เป็นจำนวน 1,276 ยูอาร์แอล อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่ายังอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 1,129 ยูอาร์แอล ตามคำสั่งศาล 33 คำสั่งของช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563
ขณะที่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 บริษัท Fackbook, Inc. ได้ดำเนินการปิดกั้นครบเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 (ช่วงเวลาประมาณเกือบ 23.00 น.)
“กระทรวงฯ ขอย้ำว่าการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตาม พ.ร.บ ว่าด้วยการการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีคำสั่งศาลอย่างถูกต้อง มิได้เป็นการข่มขู่ใดหรือกลั่นแกล้งอย่างใด” นายพุทธิพงษ์กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” หลังเปิดตัวเป็นช่องทางให้ประชาชนส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายว่า ตลอดกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าข้อความที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมาย เริ่มมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ สถิติระหว่างวันที่ 15-24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาจำนวน 2,931 รายการ (ยูอาร์แอล) ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการที่ซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฎหมาย 1,891 รายการ โดยตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย จำนวน 680 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 434 รายการ ยูทูบ 63 รายการ ทวิตเตอร์ 50 รายการ และเว็บไซต์/อื่นๆ จำนวน 113 รายการ
หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ ศาลมีคำสั่งแล้วทั้งสิ้น จำนวน 354 รายการ (ยูอาร์แอล) และอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 326 รายการ ขณะที่ คงเหลือข้อมูลที่อยู่ระหว่าง การตรวจสอบ จำนวน 360 รายการ
สำหรับตัวเลขรวมที่ได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชน นับตั้งแต่วันเปิดตัวเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาทั้งสิ้น 5,943 รายการ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฎหมาย 3,232 รายการ และตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 2,260 รายการ โดยศาลมีคำสั่งแล้ว จำนวน 1,781 รายการ, อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 479 รายการ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 451 รายการ
นายพุทธิพงษ์ กล่าว น่าชื่นชมที่ประชาชนตื่นตัวให้ความร่วมมือช่วยกันดูแลสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดจำนวนเนื้อหา/ข้อมูลที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมบนเครือข่ายโซเชียล/ออนไลน์ โดยมีข้อน่าสังเกตว่า แม้จะมีการแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีแนวโน้มของรายการที่เข้าข้อกฎหมาย และต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินการตามกฎหมาย การลบ หรือการสั่งปิด มีสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากหลายรายการเป็นการการรับแจ้งเบาะแสที่ซ้ำซ้อนกัน หรือไม่เข้าข้อกฎหมาย ถือเป็นความสำเร็จของการกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสาธารณะในการดูแลสังคมออนไลน์
ทั้งนี้ หากดูแลจากสถิติย้อนหลัง พบว่าช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ได้รับแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย จำนวน 1,050 รายการ (ยูอาร์แอล) ตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายซึ่งเป็นการดำเนินการกระทำความผิดตามกฎหมาย จำนวน 317 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของข้อมูลที่ได้แจ้ง
จากนั้นในวันที่ 7-17 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแส จำนวน 3,083 รายการเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย คือมีความผิดตามพระราชบัญญติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน ทั้งสิ้น 1,395 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของข้อมูลที่มีการแจ้งเบาะแส
“ขณะที่ สัปดาห์ล่าสุดมีข้อมูลที่ผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้วพบว่ามีรายการที่เข้าข่ายผิดกฎหมายไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะส่วนใหญ่เป็นรายการซ้ำซ้อน และไม่เข้าข่าย แสดงว่ามีประชาชนจำนวนมากตื่นตัวที่จะแจ้งเบาะแสมาที่เพจเรา (อาสา จับตา ออนไลน์) เมื่อพบเห็นสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ที่อาจผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม จึงพบรายการซ้ำซ้อนจำนวนมาก และสัดส่วนของเนื้อหา/เว็บที่ผิดกฎหมายก็ลดลง ทั้งนี้นับเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลสังคมออนไลน์” นายพุทธิพงษ์กล่าว
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการสืบหา และเก็บหลักฐานการกระทำผิดในสื่อออนไลน์ โดยตั้งกฎเหล็กไว้ว่าการปิดกั้น จะต้องเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อส่งให้ศาลอนุมัติคำสั่ง และปิดเว็บ ลบเนื้อหา หรือส่งให้เจ้าที่ตำรวจดดำเนินคดี รวมถึงให้มีการจัดนิติกรเวร เป็นผู้แจ้งความในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
“ประชาชนสามารถช่วยกันแจ้งข้อมูลเบาะแส ร้องเรียน รวมทั้งขอคำปรึกษาเมื่อพบเห็นเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายได้ที่เพจ “อาสา จับตา ออนไลน์ “ ทาง inbox m.me/DESMonitor จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง พิจารณาข้อมูลร้องเรียนตามข้อกฎหมายและตอบกลับโดยเร็ว” นายพุทธิพงษ์กล่าว