เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา SpaceX ได้ส่งจรวด Falcon 9 ที่บรรจุอุปกรณ์ในยานแคปซูล Dragon Cargo ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และประสบความสำเร็จกับการนำจรวดลงลานจอดกลางมหาสมุทร
การส่งจรวด Falcon 6 ใช้พลังแรงดันมากกว่า 1.7 ล้านปอนด์ โดยหลังจากปล่อยจรวดไปเพียง 2.30 นาที จรวดส่วนแรก Booster ที่ทำหน้าที่ส่งแรงดัน ได้แยกตัวออกจากส่วนที่ 2 บินกลับมายังลานจอดกลางมหาสมุทร Atlantic ที่มีชื่อว่า “Of Course I still Love You” ในสภาพสมบูรณ์แบบ ในขณะที่ส่วน 2 ก็บินพุ่งออกไปนอกอวกาศเพื่อนำส่งอุปกรณ์การสำรวจค่าคาร์บอนไดออกไซด์และแสกนภาพชั้นบรรยากาศ ไปยังยาน Dragon ที่สถานีอวกาศนอกโลก โดยมีกำหนดถึงวันจันทร์
ภารกิจการส่ง Falcon 9 ของ SpaceX ไม่ใช่เป็นครั้งแรกสำหรับการขนส่งอุปกรณ์อวกาศ แต่เป็นครั้งที่ 17 แล้ว ซึ่ง SpaceX ได้รับการว่าจ้างจาก NASA ให้ส่งอุปกรณ์ซ่อมแซมไปยังสถานีอวกาศเป็นจำนวน 20 ครั้ง จนถึงปี 2020 มีมูลค่าสัญญากว่า 3.04 พันล้านเหรียญ และยังมีภารกิจอื่นที่ NASA จ้างควบคู่ไปด้วย คือ การนำส่งเครื่องมือไปยังสถานีอวกาศ ด้วยจรวดและนักบินที่มีประสิทธิภาพมากกว่ารุ่นเดิม เป็นจำนวนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง มูลค่ากว่า 2.6 พันล้านเหรียญ
ยาน Dragon ที่สถานีอวกาศมีกำหนดปลดระวางวันที่ 3 มิถุนายน และดิ่งลงกลับมายังโลกที่มหาสมุทร Pacific พร้อมตัวอย่างการสำรวจชั้นบรรยากาศโลกและอุปกรณ์ต่างๆ
หลังจากประสบความสำเร็จในการส่ง Falcon 9 และจรวดส่วนแรก Booster กลับลงจอดได้อย่างปลอดภัย SpaceX ได้กำหนดตารางการส่งจรวดครั้งต่อไปด้วยการใช้ Booster เดิม กำหนดการไม่เกินวันที่ 8 มิถุนายนนี้ จากสถานี Cape Canaveral
NASA กับ SpaceX ยินดีที่จะใช้ Booster เดิมที่ใช้ยิงจรวด Falcon 9 สำหรับภารกิจครั้งต่อไป ซึ่งหากเป็นไปตามแผน ภารกิจส่งจรวด SpaceX CRS-18 และ CRS-19 จะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคมปีนี้
Kenny Todd ผู้จัดการสถานีอวกาศจาก NASA เห็นด้วยกับการนำ Booster กลับมาใช้ใหม่ในการส่งจรวดครั้งต่อไป พร้อมทั้งเปิดเผยถึงความมั่นใจกับผลงานของ SpaceX ที่ประสบความสำเร็จในการลงจอด Booster จากจรวด Falcon 9 ที่ผ่านมา อีกทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ซึ่ง Booster นี้มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ครั้ง ก่อนถูกปลดระวาง นำกลับไปซ่อมแซมปรับปรุงใหม่
================
Technopolis มหานครอัจฉริยะ
ทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 13.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32
ติดตามข่าวสารจาก TKNonline
เฟสบุคแฟนเพจ https://www.facebook.com/TKNOnline
Subscribe https://www.youtube.com/TKNonline
และเว็ปไซต์ https://tknonline.com/ http://www.splash-inter.co.th/
อ้างอิงข้อมูลจาก Splaceflightnow