ในที่สุดผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และ 3 ค่ายมือถือ ก็พร้อมทำตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยเปิดทางให้ช่องทีวีดิจิทัล “คืนช่อง” ได้ ไม่ว่าจะ “ไปต่อหรือขอคืน” ก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลใน 2 งวดสุดท้าย รวมกันทุกช่องมีภาระที่ต้องจ่าย 13,622 ล้านบาท แถมได้ค่าเช่าโครงข่าย (MUX) สำหรับออกอากาศไปจนสิ้นสุดใบอนุญาต (9 ปี 6 เดือน) อีกมูลค่า 18,775 ล้านบาท อีกทั้งยังจะได้เงินเยียวยาเพิ่มอีกนิดหน่อยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. เตรียมออกประกาศในเดือน พ.ค.นี้ แต่ “เงิน” จะได้จริงเดือน ต.ค. 2563
ทางด้าน 3 ค่ายมือถือก็หายใจโล่งขึ้น กรณีไม่ต้องควักเงินก้อนโตจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้าย ที่ครบกำหนดจ่าย มี.ค. 2563 ได้แก่ “เอไอเอส” ค่างวด 59,574 ล้านบาท และ “ทรูมูฟ เอช” ค่างวด 60,218 ล้านบาท ส่วน “ดีแทค” จะครบกำหนดในปี 2565 ค่างวดอยู่ที่ 30,024 ล้านบาท โดยทั้งหมดได้สิทธิ์ปรับงวดแบ่งจ่ายใหม่ จากเดิมต้องแบ่ง 4 งวด ยืดออกไปเป็น 10 งวด เฉลี่ย “เอไอเอส และทรูมูฟ เอช” ต้องจ่ายปีละ 8 พันกว่าล้านบาท และดีแทคปีละ 4 พันกว่าล้านบาท
การยืดจ่ายค่าคลื่น 900 MHz มีเงื่อนไขต่อท้ายว่า ต้องเข้าประมูลคลื่น 700 MHz ที่สำนักงาน กสทช.เตรียมจัดขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดอื่นใด มากไปกว่าจะมี 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz มูลค่าเบื้องต้นอยู่ที่ใบละ 25,000-27,000 ล้านบาท มีสิทธิ์ใช้คลื่น 15 ปี และต้องจ่ายเงินค่าประมูลงวดแรก 1 ต.ค. 2563
รัฐได้เงินเพิ่มกว่า 7 หมื่นล้าน
เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ระบุผู้ที่จะใช้สิทธิ์ตามคำสั่งดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นค่ายมือถือหรือช่องทีวีดิจิทัลจะต้องยื่นหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้เท่านั้น พร้อมยืนยันหนักแน่นว่าไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์แต่อย่างใด
นอกจากเงินประมูลคลื่น 900 MHz รวม 203,317 ล้านบาท เท่าเดิมแล้ว ยังจะได้เงินจากการประมูลคลื่น 700 MHz เพิ่มเติมอีก เบ็ดเสร็จแล้วจะได้เงินจากค่ายมือถือเพิ่มอีก 40% หรือราว 278,317 ล้านบาท ไม่นับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลงทุน และมูลค่าเพิ่มจากการมี 5G โดยประเมินว่าในปี 2578 จะสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 2.3 ล้านล้านบาท
คลังไม่ต้องคืน 9.7 พันล้าน
รัฐจะได้เงินเพิ่มขึ้นเท่าใดแน่ยังต้องรอ แต่ที่แน่ ๆ จะไม่ได้เงินประมูลช่องทีวีดิจิทัลอีก 2 งวดที่เหลือ มูลค่า 13,622 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังได้ประโยชน์จากวรรคท้ายของคำสั่ง คสช. ที่ระบุให้ไม่ต้องคืนเงินที่ยืมไปจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของ กสทช. ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 26 พ.ค. 2558 เป็นเงิน 14,300 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ และระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันยอดคงเหลือที่ “ไม่ต้องคืน” มีอยู่ราว 9,700 ล้านบาท หลังจากได้ทยอยคืนไปบางส่วนแล้ว
ค่ายมือถือ “แบ่งรับแบ่งสู้”
เมื่อวิเคราะห์โมเดลที่เชื่อว่าจะปลดล็อกทั้งอุตสาหกรรมบรอดแคสต์ ที่มีสภาพแบบที่เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า “ตายซ้ำตายซ้อนแต่ตายไม่ได้” ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมหมดสภาพคล่องแล้ว โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนได้ คือ “การจัดสรรคลื่น 700 MHz ต้องสำเร็จ” นั้น บรรยากาศในการชี้แจงมาตรการช่วยเหลือตามคำสั่ง คสช.ล่าสุดกลับเห็นได้ชัดเจนว่า ตัวแทน 3 ค่ายมือถือยังคงแบ่งรับแบ่งสู้เกี่ยวกับการเข้าประมูลคลื่น 700 MHz
โดยทั้ง “ทรู และดีแทค” ระบุว่า ต้องรอดูรายละเอียดทั้งหมด ให้บอร์ดบริษัทตัดสินใจก่อน ขณะที่ฝั่ง “เอไอเอส” กล่าวว่า กสทช.ให้เวลาตัดสินใจสั้นเกินไป ทั้งที่ยังไม่เห็นเงื่อนไขการประมูล ทั้งถามเพิ่มเติมไปยัง กสทช.ด้วยว่า “จะเข้าประมูลแค่ 5 MHz ได้หรือไม่”
เชื่อว่าก่อนจะถึงเส้นตายใช้สิทธิ์ 10 พ.ค. หรือหลังจากนั้นน่าจะเกิดการต่อรองเงื่อนไขอีกหลายยก เลขาธิการ กสทช.ยังสำทับด้วยว่า อยากให้ผู้ประกอบการทุกรายมาขอใช้สิทธิ์ไว้ก่อน เพราะยกเลิกภายหลังได้ แต่ถ้าเลยกำหนดแล้วจะมาขอยื่นเพิ่มภายหลังไม่ได้”
เปิดทาง “ค่ายมือถือ” ต่อรอง
ฟาก “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ย้ำว่า คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ดูเผิน ๆ เหมือนบังคับค่ายมือถือให้ต้องจ่ายค่าคลื่น 700 MHz แต่จริง ๆ เป็นการรับประกันว่าจะมีคลื่น 5G ให้ใช้แน่นอน เมื่อถึงเวลาเข้าประมูลก็ขอต่อรอง หน้าฉากเหมือนบังคับ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ทั้งยังทำให้เห็นว่าหากเป็นกลุ่มเงินทุนใหญ่จะต่อรองอะไรก็ได้
ขณะที่ผลประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับ โดยเฉพาะ “ต้นทุนการเงิน” ที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในการยืดจ่ายเงินค่าประมูลจะอยู่ที่ 8,780 ล้านบาท สำหรับทรู และ “เอไอเอส” 8,380 ล้านบาท
ส่วน “ดีแทค” อยู่ที่ 2,580 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 19,740 ล้านบาท ในมูลค่าปัจจุบัน และเมื่อนำมูลค่าคลื่น 700 MHz ที่ กสทช.ประเมินไว้เบื้องต้น 25,000 ล้านบาท ซึ่งเป็น “มูลค่าในอนาคต” รวมกับประโยชน์จากการยืดหนี้ตามคำสั่ง คสช.แล้ว เท่ากับ “เอไอเอส และทรู” ซื้อสิทธิ์ใช้คลื่น 5G ในราคาเพียง 8,787 ล้านบาท และ 8,386 ล้านบาท ส่วนดีแทคซื้อได้ในราคาสูงกว่า คือ 14,580 ล้านบาท
นอกจากนี้ การเร่งให้เกิด 5G ในประเทศไทยภายในปี 2563 ยังไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะเป็นบริการของอนาคต ไม่ใช่จะเห็นทั่วไปใน 1-2 ปีนี้ ยกเว้นประเทศ “ผู้ขายเทคโนโลยี” ส่วนมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศตามที่ กสทช.นำมาอ้าง ต้องรอถึงปี 2578 ดังนั้นการรออีก 2-3 ปี ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย
ย้อนยุคสู่การวิ่งเต้น
“ผู้ที่เสียหายโดยตรง คือ ประเทศ และประชาชน ซึ่งเป็นผู้เสียภาษี และผู้บริโภค โดยในฐานะของผู้เสียภาษีและเจ้าหนี้ทางอ้อมของผู้ประกอบการ 4G คนไทยทุกคนเสียโอกาสจากการยืดหนี้ 4G และการจัดสรรคลื่น 5G ที่ปราศจากการแข่งขัน เงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ที่หายไปจากการยืดหนี้ นำไปใช้สร้างโรงพยาบาล พัฒนาโรงเรียน หรือจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้ประชาชนได้มาก”
ดร.สมเกียรติย้ำว่า คำสั่ง คสช.ทำให้ประเทศไทยถอยหลังไปสู่กิจการโทรคมนาคมระบบสัมปทานที่เปิดช่องให้มีการวิ่งเต้น เกิดกฎกติกาต่างๆ จนนำไปสู่ “ธนกิจการเมือง” ทำให้ประเทศห่างไกลจากความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามที่รัฐบาลใฝ่ฝัน จากปัญหาธรรมาภิบาลบกพร่องอย่างรุนแรง
โดยเฉพาะการ “ตีเช็คเปล่า” ให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจใช้ดุลพินิจในสาระสำคัญทั้งหมด โดยไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กสทช. และไม่ต้องประชาพิจารณ์ ไม่ต้องมีการตรวจสอบโดยกลไกตลาด และในทางกฎหมาย การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง ทำให้ คสช. รัฐบาล และ กสทช. พ้นความรับผิดทางกฎหมาย และประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้
================
Technopolis มหานครอัจฉริยะ
ทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 13.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32
ติดตามข่าวสารจาก TKNonline
เฟสบุคแฟนเพจ https://www.facebook.com/TKNOnline
Subscribe https://www.youtube.com/TKNonline
และเว็ปไซต์ https://tknonline.com/ http://www.splash-inter.co.th/
อ้างอิงข้อมูลจาก Prachachat