“พุทธิพงษ์” เผยเฟซบุ๊กไม่ค่อยให้ความร่วมมือปิดเว็บผิดกฎหมาย เมื่อเทียบกับยูทูป พร้อมประชุมร่วมกับ กสทช. และไอเอสพี ทำงานเชิงรุก เปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” และสายด่วน 0-2141-6747 รับแจ้งข้อมูลเว็บไซต์ผิดกฎหมายจากประชาชน เผยรอบ 7 เดือนแรกปีนี้ ลุยปิดเว็บตามคำสั่งศาลไปแล้ว 7,164 URL
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพจากหน้าเพจเฟซบุ๊กของสื่อหลายแห่งในการถ่ายทอดสดพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และมีข้อความที่ไม่เหมาะสมแสดงขึ้นมา โดยเป็นคำแปลจากข้อความต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่มีความหมายไม่ถูกต้องนั้น กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ประสานไปยังเฟซบุ๊กแล้ว ขณะที่ไทยพีบีเอสเองก็ได้แจ้งความไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินคดีต่อเฟซบุ๊กแล้ว
ที่ผ่านมากระทรวงฯ ไม่เคยนิ่งนอนใจต่อการดำเนินการเว็บไซต์ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งยูทูปให้ความร่วมมือ 90% ขณะที่เฟซบุ๊กให้ความร่วมมือเพียง 30% เท่านั้น เห็นได้ว่าเฟซบุ๊กไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือเลย ทั้ง ๆ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย มาให้บริการแก่คนไทย จึงควรที่จะเข้าใจบริบทของสังคมไทย ยอมรับในสิ่งที่คนไทยยึดมั่น นับถือ และรับผิดชอบสังคมไทยด้วย ไม่ใช่ส่งไปให้ปิดแล้วก็นิ่งเฉย คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจคิดว่ากระทรวงฯ นิ่งเฉย เมื่อต้นเรื่องที่ต่างประเทศไม่ให้ความร่วมมือ กระทรวงฯ ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกระบวนการทำงานของกระทรวงฯ ได้ประสานไปหมดทุกขั้นตอนแล้ว
อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 ก.ค. 2563 กระทรวงฯ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ได้หารือร่วมกันถึงมาตรการเชิงรุกเกี่ยวกับเรื่อง “การกระทำความผิดทางออนไลน์ ที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมกันในการทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้มีการแจ้งผลการดำเนินการรวดเร็วขึ้น มีความต่อเนื่องในการทำงานมากขึ้น
ทั้งนี้ ในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2563 กระทรวงฯ ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และประสานงานร่วมกับไอเอสพี จนนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิด หรือลบข้อมูลในเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้ว จำนวน 7,164 URL (ขัอมูล ณ วันที่ 23 ก.ค. 2563) จากจำนวนที่กระทรวงฯ ได้รับแจ้งทั้งสิ้น 8,715 URLและมีการส่งศาล 7,164 URL
สำหรับการกระทำผิดส่วนใหญ่ที่ได้รับข้อมูลจากการแจ้งเข้ามา พบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และมีช่องทางอื่นๆ บ้าง ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการส่งข้อมูลให้แก่ บก.ปอท.จำนวน 7,164 URL พร้อมพยานหลักฐาน และคำสั่งศาล เพื่อดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป
“ผมในฐานะ รมว.ดีอีเอส ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน โดยมีขั้นตอน เริ่มจากรับแจ้งเว็บไซต์จากประชาชน พร้อมทั้งตรวจสอบ รวบรวมหลักฐานพยานที่ครบถ้วน และมีขั้นตอนของการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดหรือลบข้อมูลต่อไป จากนั้นขั้นตอนสำคัญคือ หากได้คำสั่งศาลก็จะมีการส่งให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และส่งคำสั่งศาลให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ก /ยูทูป /ทวิตเตอร์) เพื่อดำเนินการปิดหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายต่อไป โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับไอเอสพี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้ปัญหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ลดลง”
พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ เห็นความสำคัญว่าต้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน เพื่อร่วมช่วยกันสอดส่องดูแลเว็บไซต์ไม่เหมาะสมที่มีการกระทำผิดกฎหมายทางออนไลน์ หรือผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ล่าสุดจึงได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก “อาสา จับตา ออนไลน์” เพื่อเป็นช่องทางรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชม. และพิจารณาตามข้อกฎหมายและตอบกลับ และอีกช่องทางหนึ่งคือ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2141-6747