D Tech : บอกลาผ่านเทคโนโลยี VR

เทคโนโลยีวีอาร์ช่วยพาแม่ให้ ‘กลับมาพบหน้า’ ลูกสาวที่ตายจากไปอีกครั้ง
การเผชิญกับความโศกเศร้าเป็นเรื่องที่ยากจะทำใจ แต่เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นในชีวิตจริง และหากเป็นการสูญเสียลูกที่ยังอยู่ในวัยเด็ก ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากเกินจะทำใจได้
คุณแม่คนหนึ่งในเกาหลีใต้ ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (virtual reality) หรือวีอาร์ ช่วยให้เธอรับมือกับการสูญเสียลูกสาววัย 7 ขวบ
นา-ยอน ลูกสาวคนที่ 3 ของ จัง จี-ซุง จากไปอย่างกะทันหันเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะป่วยด้วยโรคเลือดที่แพทย์ยังไม่พบหนทางรักษา
ทีมงานผลิตรายการโทรทัศน์ใช้เวลา 8 เดือน ทำสารคดีนำเสนอเรื่องราวเสมือนจริงของสองแม่ลูก โดยได้สร้างภาพ 3 มิติของ นา-ยอน และใช้เทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหว (motion capture technology) บันทึกการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดงเด็กคนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้สร้างท่าทางการเคลื่อนไหวของ นา-ยอน และเสียงของเธอขึ้นมาใหม่
นอกจากนี้ยังได้ออกแบบสวนเสมือนจริงตามแบบสวนที่ทั้งแม่และลูกเคยไปด้วยกันมาก่อนในชีวิตจริง
สารคดีเรื่องนี้มีชื่อว่า “Meeting You” (อาจแปลเป็นไทยได้ว่า พบหน้าลูก) ออกอากาศเป็นครั้งแรกทางช่องเอ็มบีซี (MBC) และมีชาวเกาหลีใต้หลายล้านคนได้ชมสารคดีเรื่องนี้แล้ว
ฉากที่สะเทือนอารมณ์มากที่สุดคือตอนที่แม่และลูกสาว “ได้พบหน้ากัน” ซึ่งภาพเสมือนจริงของ นา-ยอน ที่ถูกสร้างขึ้นได้วิ่งไปหา จัง จี-ซุง แล้วพูดว่า “แม่ แม่ไปอยู่ไหนมาคะ คิดถึงหนูบ้างไหม”
จัง จี-ซุง สะอื้น ขณะที่ยื่นมือไปเพื่อพยายามกอดภาพเสมือนจริงของ นา-ยอน ในเวลาเดียวกันนั้นทีมงานผลิตสารคดีต่างร้องไห้ตามไปด้วย เช่นเดียวกับสมาชิกหลายคนในครอบครัว ที่ได้เห็นภาพสะเทือนใจ
‘การได้พบหน้า’ บุคคลอันเป็นที่รักที่จากไปแล้ว
สารคดีเรื่องนี้ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งในแง่มุมทางจิตวิทยาและศีลธรรมจากการนำบุคคลอันเป็นที่รักที่จากไปแล้วให้ “ได้กลับมาพบหน้ากันอีก”
มีการโพสต์คลิปวิดีโอความยาว 10 นาที ทางยูทิวบ์ โดยมีคนเข้าชมแล้วมากกว่า 14 ล้านครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นมากกว่า 20,000 ข้อความ
บางคนรู้สึกว่าการทำเช่นนี้ช่วยบรรเทาความโศกเศร้า แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคิดว่าทำให้ไม่อาจทำใจจากความสูญเสียได้ บางคนยังกล่าวหาเอ็มบีซีว่า หาประโยชน์บนความทุกข์ของแม่ที่กำลังเศร้าโศก และเห็นว่าประสบการณ์เช่นนี้ จะยิ่งทำให้แม่ยิ่งทุกข์กว่าเดิม
บางคนตั้งคำถามว่าการทดลองทำแบบนี้จะเรียกได้ว่าเป็น “สวรรค์หรือนรก” กันแน่
แต่สำหรับ จัง จี-ซุง แล้วเธอบอกว่า มันช่วยเยียวยาเธอได้ โดยหลังจากที่เสียลูกไปเธอได้สักชื่อของ นา-ยอน ไว้บนร่างกาย และวางภาพของลูกสาวไว้ทุกมุมในบ้าน เธอยังสวมสร้อยคอที่มีเถ้ากระดูกของลูกสาวบรรจุอยู่ข้างในด้วย
เธอเล่าว่า เธอฝันถึงนา-ยอน และในฝันนั้นลูกดูเศร้าหมอง แต่ตอนที่เธอได้พบลูกสาวในโลกเสมือนจริง ลูกสาวยิ้มแย้มสดใส
บีบีซี ภาคภาษาเกาหลี พูดคุยกับนักจิตวิทยา ซึ่งเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเยียวยา อาจช่วยให้ จี-ซุง รับมือกับอาการบอบช้ำทางจิตใจจากการสูญเสียลูกสาวก่อนวัยอันควรได้
“มันช่วยได้มากสำหรับคนที่ต้องเผชิญกับความเศร้าโศกอย่างคาดไม่ถึง ทำให้มีโอกาสได้กล่าวคำอำลา หลังจากที่ต้องรับความรู้สึกปวดรวดร้าวอย่างไม่ทันตั้งตัว” โก ซุน-กยู นักจิตวิทยาจากสถาบันสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยเกาหลี กล่าว
ด้าน ดง-กวี อี จากมหาวิทยาลัยยอนเซ กล่าวกับบีบีซีว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือวีอาร์ และเทคโนโลยีเออาร์ (augmented reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนจริง มาใช้รักษาผู้มีอาการผิดปกติจากความวิตกกังวลต่าง ๆ ความกลัว อาการสมองเสื่อม และภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว
ในอังกฤษเองมีการใช้เทคโนโลยีวีอาร์จำลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่จัดขึ้นในปี 1953 มาใช้เพื่อกระตุ้นความทรงจำของคนไข้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อม เพราะการที่ผู้สูงอายุเหล่านั้น ได้ย้อนความทรงจำกลับไปยังอดีต ช่วยปลุกความทรงจำที่ฝังลึกให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ศ.ดง-กวี อี กล่าวว่า การทดลองใช้วีอาร์จัดการกับความเศร้าโศก จำเป็นต้องศึกษาว่ามีผลข้างเคียง เช่น ทำให้รู้สึกถึงความสูญเสียหนักไปกว่าเดิมหรือไม่