นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมภารกิจ “ดีป้า” พร้อมสั่งการแนวทางขับเคลื่อนไทยสู่ดิจิทัลฮับอาเซียน

 

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมภารกิจ “ดีป้า”

พร้อมสั่งการแนวทางขับเคลื่อนไทยสู่ดิจิทัลฮับอาเซียน

9 ตุลาคม 2562, อาคารดีป้า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร – นายกรัฐมนตรีและคณะเยี่ยมชมภารกิจสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมนั่งหัวโต๊ะสั่งการแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นดิจิทัลฮับอาเซียน ผ่านการพัฒนา “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” และ “ดิจิทัล สตาร์ทอัพ” ดึงดูดนักลงทุน ควบคู่กับการเร่งยกระดับกำลังคนในสาขาที่ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อยืนยันความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาค

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะเข้าเยี่ยมชมภารกิจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล    นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้บริหาร พนักงาน และผู้แทนจากภาคเอกชนให้การต้อนรับ

จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมหารือในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาประเทศไทยสู่ ASEAN Digital Hub” โดยสั่งการให้ดีป้าเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐสำคัญอย่าง “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” พื้นที่เมืองอัจฉริยะในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และขยายตลาดในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทดสอบ ทดลองนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ก่อนก้าวสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ พร้อมรับเร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจุดต่อเชื่อมสถานีกับพื้นที่ EECd เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน และเอกชนในพื้นที่

“ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ จะเป็นแหล่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น หรือ ดิจิทัล สตาร์ทอัพ สัญชาติไทยใน 6 สาขา ประกอบด้วย เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและอาหาร (AgTech) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (Ed

Tech) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสาธารณสุข (HealthTech) เทคโนโลยีเพื่อการให้บริการภาครัฐ (GovTech) เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech) ก่อนทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Large Tech Company) จากต่างประเทศ ทั้งด้านไอที การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซอฟท์แวร์ คอนเวอร์เจนซ์ ฮาร์ดแวร์ ฯลฯ ในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมด้านดิจิทัล (Digital Product – Service Innovation Design)” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นอกจากนี้จะต้องเร่งยกระดับศักยภาพกำลังคน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะสาขาดิจิทัล หุ่นยนต์ (Robotic) อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่จะผลิตบุคลากรรองรับอาชีพแห่งอนาคต อาทิ หลักสูตรการเขียนโปรแกรมสั่งการอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการแสดงความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคในอนาคต

 

ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพบปะเหล่าดิจิทัล สตาร์ทอัพ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ และชมการแสดงผลงานของดิจิทัล สตาร์ทอัพ ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและอาหาร (AgTech) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสาธารณสุข (HealthTech) เทคโนโลยีเพื่อการให้บริการภาครัฐ (GovTech) เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech) และการเปลี่ยนแปลงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation)

โดยนายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอของผู้ประกอบการที่เสนอให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค พร้อมย้ำว่า ตนให้ความใส่ใจกับผู้ประกอบการทุกราย ไม่เคยทอดทิ้ง แต่อยากให้นำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะในร้านค้าปลีกและตลาดสด อีกทั้งยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครให้ข้างหลัง และก้าวไปอย่างเข้มแข็งพร้อมกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เยี่ยมชมภารกิจของดีป้าในด้านต่าง ๆ จุดให้บริการดิจิทัลครบวงจร
(Digital One Stop Service – DOSS) ซึ่งให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน สมาร์ทวีซ่า และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัล โมเดลไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ นิทรรศการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อาทิ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสัมผัสนวัตกรรมล้ำสมัยจากผู้ประกอบการด้านดิจิทัลชั้นนำของประเทศ โดยได้ทดลองใช้เครื่องตรวจจับใบหน้าและอารมณ์ ปรากฏว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีอารมณ์ดีเกิน 90%