บริการส่งอาหารถึงที่ผ่านแอปพลิเคชันเติบโตรวดเร็วจนทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างน่ากลัว ในขณะที่ไม่มีนโยบายจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ประชนชนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครมีชีวิตที่ดำเนินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ตารางงานที่แน่นขนัด และวันๆ หนึ่งต้องเสียเวลาไปกับการจราจรอันติดขัดบนท้องถนนเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่การมาถึงของบริการ Food Delivery หรือการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเพื่อให้กองทัพแมสเสนเจอร์ในสังกัดขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่ารถติดลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยซื้อของที่เราอยากกินแล้วนำมาส่งให้ถึงที่ก็ทำให้ชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ดำเนินไปได้ง่ายและสะดวกสบายขึ้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นคือกองขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
ในประเทศไทย บริการสั่งและส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม ได้แก่ Grab Food, GET!, Line Man และ Food Panda โดยมีผู้เล่นบางรายที่หยุดให้บริการไปแล้วคือ Uber Eats และ Now ขณะที่โมเดลการทำรายได้คือการคิดค่าส่งตามระยะทาง ไปจนถึงการบวกค่าอาหารจากราคาหน้าร้าน บางเจ้าทำโปรโมชันดึงดูดลูกค้าด้วยการเหมาค่าส่งเป็นเรทเดียวในราคาที่ย่อมเยา หรือให้คูปองและส่วนลดพิเศษบ่อยๆ
ตั้งแต่ต้นปี จนถึงเดือนเมษายน 2019 Grab Food ทำสถิติส่งอาหารให้ลูกค้าแล้วมากกว่า 4 ล้านครั้ง โดยคาดการณ์ว่ายอดการสั่งอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นไปแตะ 20 ล้านครั้งภายในปีนี้ นับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านครั้งในปีที่แล้วชนิดก้าวกระโดด ซึ่งทางบริษัทก็วางแผนที่จะขยายการให้บริการส่งอาหารจากเดิมที่ซึ่งให้บริการเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ไปครอบคลุมพัทยา หาดใหญ่ และโคราช ด้วย
การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน 1 ครั้ง สำหรับ 1 เมนู ทำให้เกิดการใช้ขยะพลาสติกมากกว่า 5 ชิ้นขึ้นไป เช่น ข้าวมันไก่ 1 กล่อง อาจจะประกอบไปด้วย กล่องข้าว ช้อมพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อมส้อม ถุงน้ำจิ้ม ถุงน้ำซุป ถุงพลาสติกใหญ่สำหรับใส่อาหารทั้งหมด ในขณะที่การสั่งเครื่องดื่ม อาจทำให้เกิดขยะที่มากกว่าแก้วพลาสติก 1 ใบ เนื่องจากการสั่งกลับบ้านจะต้องแยกน้ำแข็งใส่แก้วพลาสติกอีกใบ ฝาครอบแก้ว หลอด และถุงพลาสติกเพื่อใช้ในการหิ้ว
การจะบรรจุอาหารเพื่อให้เมสเสนเจอร์รับไปส่งลูกค้าขึ้นอยู่กับการออกแบบและการตัดสินใจของร้านอาหาร เนื่องจากลูกค้าหันมาสั่งอาหารวิธีนี้มากขึ้น ทำให้รายได้ของร้านอาหารบางร้านขึ้นอยู่กับยอดการสั่งออนไลน์ ดังนั้นร้านอาหารจำนวนมากจึงเลือกที่จะใช้หีบห่อพลาสติกหลายชั้นเพื่อให้แน่นหนาที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าเกิดความไม่พอใจในกรณีที่อาหารหก รั่ว หรือซึม
จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวเรื่องปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันกันมากขึ้น อย่างกรณีของร้านชานมไข่มุก Fire Tiger ที่แพ็กชานมไข่มุกแยกชิ้นออกมาเป็นพลาสติกถึง 8 ชิ้น ก็ทำให้เกิดกระแสการต่อว่าต่อขาน จนทางร้านออกมาแถลงการณ์ว่าจะคิดหามาตรการแก้ไข และหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนแก้วพลาสติกเดิมมาเป็นแก้วแบบย่อยสลายได้ 100%
กรณีขยะพลาสติกเพิ่มจำนวนตั้งแต่การมาถึงของเทคโนโลยีสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศจีนที่อยู่ในช่วงอินเทอร์เน็ตบูมก็กำลังเจอปัญหาแบบเดียวกันและอาจจะรุนแรงกว่าด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่า
เว็บไซต์ The New York Times รายงานถึงวิกฤตขยะพลาสติกในประเทศจีนอันเนื่องมาจากการที่ประชาชนหันมาใช้บริการสั่งอาหารกันมากขึ้น โดยได้อ้างถึงสถิติว่าบริการสั่งอาหารออนไลน์ในจีนทำให้เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มากถึง 1.6 ล้านตันในปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสองปีก่อนหน้าถึง 9 เท่า จากปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร 1.2 ล้านตัน ตะเกียบใช้แล้วทิ้ง 175,000 ตัน ถุงพลาสติก 164,000 ตัน และช้อนพลาสติก 44,000 ตัน
ถึงแม้ว่าประชากรในประเทศจีนจะทิ้งขยะพลาสติกต่อหัวน้อยกว่าคนอเมริกัน แต่นักวิจัยก็คาดประมาณว่าเกือบ 3 ใน 4 ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่คนจีนทิ้งมีจุดจบที่หลุมฝังกลบขยะหรือทิ้งในที่เปิดซึ่งอาจจะไหลลงสู่ทะเลได้ทุกเมื่อ พลาสติกเหล่านี้ใช้เวลานานหลายศตวรรษกว่าจะย่อยสลายใต้ท้องทะเล
กล่องอาหารพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารเพื่อส่งให้ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปรีไซเคิลเนื่องจากต้องนำมาล้างก่อน และน้ำหนักของพลาสติกเบาจนคนเก็บขยะรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าพอที่จะรวบรวมเพื่อเก็บไปขายให้โรงงานรีไซเคิล สถานการณ์ดูจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูจากจำนวนประชากรในเมืองใหญ่ของจีนที่เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตซึ่งจากเดิมจะทำกับข้าวกินเองที่บ้าน แต่เมื่อทำงานหนักและขี้เกียจเข้าครัว ประกอบกับราคาค่าส่งอาหารที่ถูกแสนถูก แถมยังมีส่วนลดต่างๆ ให้อีกมากมายที่ทำให้แค่สั่งกาแฟแก้วเดียวให้มาส่งก็คุ้มแล้ว ก็ทำให้ปริมาณออเดอร์ออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัว
ในประเทศไทย ความรับรู้เรื่องการช่วยกันลดจำนวนขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงาน เช่น 7-11 ที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นชื่อเรื่องการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในปริมาณมหาศาล เช่น ถุงพลาสติก หรือ หลอด ก็หันมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างจริงจัง ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่อย่างเครือเซ็นทรัลซึ่งใช้นโยบายส่วนลดเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าไม่รับถุงก็เริ่มออกนโยบายที่ชัดเจนและเข้มงวดมากขึ้น แต่ดูเหมือนกับว่าปัญหาของขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการมาถึงของแอปพลิเคชันสั่งอาหารจะยังไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร ยังไม่นับรวมถึงการช้อปปิ้งสินค้าประเภทอื่นๆ ออนไลน์ที่มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวนมาก
“Amazon Effect” เป็นผลพวงมาจากการสมัครสมาชิก Amazon Prime ที่มีนโยบายส่งของถึงมือลูกค้าภายในสองวันทำให้เกิดมาตรฐานความคาดหวังของลูกค้าว่าของที่สั่งจะต้องส่งมาถึงมือโดยเร็วที่สุด และเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของของลูกค้าไปโดยสิ้นเชิง โดยจากเดิมที่มักจะรอให้มีจำนวนรายการของที่อยากได้มากพอจึงจะออกไปซื้อที่ร้านค้าครั้งเดียว กลายเป็นการสั่งของครั้งละอย่างสองอย่าง นำไปสู่การต้องส่งของเป็นจำนวนครั้งที่เพิ่มมากขึ้นกว่าความจำเป็น นอกจากจะเพิ่มปริมาณกล่องกระดาษและพลาสติกแล้วก็ยังเป็นการทำให้มีรถบนท้องถนนมากขึ้นด้วย ปรากฏการณ์คล้ายๆ กันนี้ก็ทำให้จำนวนมอเตอร์ไซค์ของเมสเสนเจอร์ในกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วย
Technopolis มหานครอัจฉริยะ
ทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 13.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32
ติดตามข่าวสารจาก TKNonline
เฟสบุคแฟนเพจ https://www.facebook.com/TKNOnline
Subscribe https://www.youtube.com/TKNonline
และเว็ปไซต์ https://tknonline.com/ http://www.splash-inter.co.th/