นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการปลุกให้เซลล์สมองหมูที่หยุดการทำงานและกำลังตายลงช้าๆ ฟื้นกลับมามีความเคลื่อนไหวได้อีกครั้งเป็นบางส่วน หลังจากหมูที่ใช้ในการทดลองดังกล่าวถูกเชือดและถูกตัดหัวแยกออกจากร่างไปแล้วนานกว่า 4 ชั่วโมง
มีการทดลองนำสมองของหมู 32 ตัวที่ได้จากโรงเชือด มาบรรจุไว้ในอุปกรณ์พิเศษซึ่งสูบฉีด “เลือดสังเคราะห์” ตามจังหวะที่เลียนแบบการเต้นของหัวใจ โดยของเหลวคล้ายเลือดที่คิดค้นมาเป็นพิเศษนี้ จะทำหน้าที่นำออกซิเจนและยากระตุ้นไปหล่อเลี้ยงสมองหมูส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง
หลังได้รับเลือดสังเคราะห์เป็นเวลา 6 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์พบว่าบรรดาเซลล์สมองหมูที่ค่อยๆ ตายลงหลังหัวหมูถูกตัดแยกจากร่างกาย มีจำนวนลดลงอย่างมาก ทั้งพบว่าเส้นเลือดในสมองฟื้นตัวกลับมาทำงานอีกครั้ง และพบการเคลื่อนไหวทำงานของสมองในบางส่วนด้วย
ผลการทดลองที่น่าตื่นเต้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature โดยนักวิจัยผู้ทำการทดลองระบุว่า จุดประสานประสาทหรือไซแนปส์ (Synapse) ซึ่งเป็นรอยต่อที่เชื่อมการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทสมองแต่ละเซลล์ ได้กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง แม้สมองหมูที่ใช้ทดลองจะได้ชื่อว่าเป็นสมองที่ตายไปแล้วถึง 10 ชั่วโมงก็ตาม
รายงานระบุว่า สมองหมูดังกล่าวสามารถมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาบางชนิดได้เหมือนกับสมองที่ยังไม่ตาย ทั้งยังมีอัตราการใช้ออกซิเจนมากเท่ากับสมองในภาวะปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่พบสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีความเคลื่อนไหวของสัญญาณไฟฟ้าตลอดทั่วทั้งสมอง ซึ่งภาวะนี้จะแสดงถึงการมีสติสัมปชัญญะ มีการรับรู้ และมีความคิดอ่านเกิดขึ้น
ศาสตราจารย์เนแนด เซสตัน ผู้นำทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่า การทดลองในครั้งนี้ได้พิสูจน์ว่ากระบวนการที่เซลล์สมองตายลงหลังขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงนั้น เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลานานกว่าที่เคยคาดกันไว้มาก ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถเหนี่ยวรั้งหรือแม้แต่หยุดยั้งกระบวนการนี้ หรือจะทำให้ถอยหลังย้อนกลับคืนสู่สภาพเดิมก็ย่อมได้
อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ได้จากการทดลองดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สามารถฟื้นฟูหรือคงสภาพสมองของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วได้อย่างเต็มที่แบบในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่จะเป็นประโยชน์ในอนาคตต่อการรักษาโรคสมองเสื่อมเช่นอัลไซเมอร์ รวมทั้งการฟื้นฟูเซลล์สมองในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ประสบอุบัติเหตุจนสมองได้รับความกระทบกระเทือน หรือทารกที่สมองขาดออกซิเจนเมื่อแรกเกิด
ด้านศาสตราจารย์โดมินิก วิลคินสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดแสดงความเห็นว่า หากมีการพัฒนาวิธีฟื้นคืนสภาพสมองหลังความตายได้สำเร็จ ในอนาคตการตัดสินชี้ขาดว่าผู้ใดเสียชีวิตแล้วหรือไม่โดยดูว่า “สมองตาย” แล้วหรือยังนั้น อาจไม่สามารถใช้เป็นกฎเกณฑ์ยึดถือได้อีกต่อไป และจะต้องมีการนิยามภาวะที่เรียกว่า “ความตาย” ในทางการแพทย์กันเสียใหม่
================
Technopolis มหานครอัจฉริยะ
ทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 13.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32
ติดตามข่าวสารจาก TKNonline
เฟสบุคแฟนเพจ https://www.facebook.com/TKNOnline
Subscribe https://www.youtube.com/TKNonline
และเว็ปไซต์ https://tknonline.com/ http://www.splash-inter.co.th/