D-TECH: SCOBY วัสดุทดแทน พลาสติกกินได้

อย่างที่รู้กันดีว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก ต้องใช้เวลานานหลายร้อยถึงเป็นพันปี แถมยังเป็นมลพิษ สร้างความเดือดร้อนให้ธรรมชาติและสัตว์ทุกชนิดอีกด้วย

ส่วนมนุษย์ก็กำลังพยายามแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยการรณรงค์และออกข้อบังคับต่างๆ เพื่อลดการใช้พลาสติก และยังมีการคิดค้นทำ “วัสดุทดแทน” ที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการ “ลด” การใช้พลาสติก ด้วยการกลับไปใช้ภาชนะใส่อาหารและข้าวของแบบเก่า เช่น ถุงผ้า ปิ่นโต แก้ว แสตนเลส ฯลฯ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาชนะเหล่านั้นยังคงมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ใช้งานได้ไม่สะดวกสบายเท่าพลาสติก ดังนั้นอีกความพยายามที่จำเป็นต้องดำเนินควบคู่กันไปก็คือ การคิดค้นวัสดุที่สามารถใช้งานได้เหมือนพลาสติก แต่ย่อยสลายได้ ไม่ทำลายโลกเหมือนพลาสติก

วัสดุทดแทนที่จะนำมาใช้เป็นแผ่นห่อของต่างๆ แทนพลาสติกนี้มีชื่อเรียกว่า SCOBY เดิมทีเป็นไอเดียของนักออกแบบชาวโปแลนด์ Roza Janusz ซึ่งเป็นโปรเจกต์จบสมัยเรียน โดยวัสดุที่คิดค้นขึ้นมานี้สามารถใช้เป็นแพ็กเกจจิ้งใส่อาหารที่มีน้ำหนักเบาได้เหมือนพลาสติก ปลอดภัยสำหรับบรรจุอาหารที่มีความเป็นกรด แถมยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และกินได้อีกด้วย

ซึ่งตอนนี้เจ้าไอเดียสุดเก๋ไก๋นั้นถูกนำมาต่อยอดพัฒนาโดย MakeGrowLab ซึ่ง Roza เองก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้วย

SCOBY นี้ทำมาจากขยะที่ได้จากการเกษตรในท้องถิ่น มันไม่เพียงแค่นำไปใช้เป็นแพคเกจของสินค้าต่างๆ เท่านั้น แต่ยังใช้ห่อเก็บอาหารได้ด้วย

วัสดุชนิดนี้นั้นไม่ละลายในน้ำ กันน้ำ กันอากาศเข้า แถมยังสามารถพิมพ์ลวดลาย หรือข้อความติดลงไปได้ด้วยนะ มันจึงเหมาะที่จะนำไปใช้ทำแพคเกจของสินค้าได้แทบทุกชนิด

สิ่งที่พิเศษมากๆ ของ SCOBY นั้นก็คือมันย่อยสลายได้ง่ายมากๆ ง่ายพอๆ กับผักเลยทีเดียว แล้วเมื่อทิ้งมันลงบนดิน มันยังเป็นปุ๋ยที่ช่วยฟื้นฟูดินได้อีกต่างหาก และสามารถกินมันได้ด้วย

และสาเหตุที่แพ็กเกจจิ้งของ Janusz กินได้ ก็เพราะใช้กรรมวิธีการทำขึ้นมาเหมือนกับการหมัก “คอมบูชา” (Kombucha) หรือ ชาหมักที่มีแบคทีเรียชนิดดี probiotics โดย Janusz ใช้แบคทีเรียและยีสต์เป็นฐานรองอยู่ด้านล่าง จากนั้นจึงเทของเหลวลงไปเพื่อให้เนื้อเยื่อแบบธรรมชาติเติบโตขึ้นอยู่ในภาชนะทรงตื้น หลังจากนั้นก็เติมน้ำตาลและขยะเหลือใช้จากการเกษตร และเมื่อหมักครบสองสัปดาห์ เนื้อเยื่อที่ว่าก็จะพร้อมให้เก็บเกี่ยวมาใช้งาน

ถึงแม้ว่าหน้าตาของแพ็กเกจจิ้งที่ทำมาจากหัวเชื้อแบคทีเรียและยีสต์นี้ จะดูไม่ค่อยน่าใช้สักเท่าไร แต่มันก็เป็นสัญญาณอันดีว่าอาจจะไม่ต้องพึ่งพาพลาสติกอีกต่อไปในอนาคต ที่สำคัญ โปรเจ็กต์นี้เป็นเพียงแค่โปรเจ็กต์จบการศึกษาของ Janusz ที่ School of Form ใน Poznan เท่านั้น ดังนั้นโครงการนี้จึงยังมีเวลาพัฒนาไปได้อีกไกลทีเดียว

Janusz ยังบอกไว้ด้วยว่า วิธีทำแพ็กเกจจิ้งจากหัวเชื้อแบคทีเรียและยีสต์นี้ก็แสนง่ายจนใครๆ ก็สามารถลองทำได้เองที่บ้านอีกด้วย

ซึ่งทางผู้พัฒนานั้นต้องการให้ผู้คนได้ตระหนักถึงมลพิษที่โลกต้องเผชิญอยู่ ลองคิดดูว่าหากสินค้าทุกชิ้นบนโลกใช้ SCOBY เป็นวัสดุทำแพคเกจขึ้นมาจริงๆ พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งคงลดลงไปมหาศาลเลยทีเดียว

================

Technopolis มหานครอัจฉริยะ
ทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 13.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32
ติดตามข่าวสารจาก TKNonline
เฟสบุคแฟนเพจ https://www.facebook.com/TKNOnline
Subscribe https://www.youtube.com/TKNonline
และเว็ปไซต์ https://tknonline.com/ http://www.splash-inter.co.th/