WATS FORUM 2019 เสวนาจุดประกายนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต

RISC และ 4 สุดยอดกูรูชั้นนำระดับโลก ร่วมจุดประกายคนทุกวงการ ตื่นตัวร่วมสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน บนฟอรั่มยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติ WATS FORUM 2019

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2562 มีงานเสวนาเปิดโลกทัศน์สู่ยุคนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต บนเวทีฟอรั่มระดับนานาชาติ WATS FORUM 2019 โดยสุดยอดกูรูชั้นนำระดับโลก ที่มาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญแห่งโลกอนาคต เน้นเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกวงการต้องตระหนัก ขณะเดียวกันได้ส่งต่อองค์ความรู้ในสาขาที่กูรูแต่ละท่านเชี่ยวชาญ ทั้งด้านความเป็นอยู่ที่ดี สถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และความยั่งยืน กระตุ้นวงการธุรกิจเห็นความสำคัญกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของทุกสรรพสิ่งบนโลก หรือ For All Well-being

รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า ศูนย์ RISC จัดงาน WATS FORUM 2019 ซึ่งเป็นงานเสวนาระดับนานาชาติด้านความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) สถาปัตยกรรม (architecture) เทคโนโลยี (technology) และ ความยั่งยืน (sustainability) ขึ้น เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ และอัพเดตข้อมูลใหม่ๆ โดยได้เชิญผู้รู้ 4 ท่าน ซึ่งเป็นทั้งนักวิชาการ นักคิดและนักวิจัย ที่ล้วนมีแนวคิดและการสร้าง Well-being จากสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำระดับโลก มาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อกระตุ้นแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยให้เห็นความสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาส่งเสริมการออกแบบและก่อสร้างให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้ทุกคนเกิดแรงบันดาลใจ มีความเข้าใจในเรื่องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน (Well-being Sustainability Model) เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิต และช่วยกันดูแลรักษาโลกให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก รวมถึงคุณ จอห์น รัตนเวโรจน์ ผู้บริหารบริษัท Splash Interactive เข้าร่วมงาน ในงานนี้มีกูรู 4 ท่านร่วมเสวนาได้แก่

มร.ดาโช เชอริง ต๊อบเกย์ – อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ผู้ที่ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวในหัวข้อ “การสร้างสมดุลย์สู่การเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ด้วยการใช้แนวทางการสร้างความสุขมวลรวมในประเทศ” จากการยกตัวอย่างพันธกิจของประเทศภูฏานที่ใช้ความสุขของประชากรเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของประเทศ และสร้างมาตรฐานให้กับโลกในเรื่องการรักษาสื่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

มร.สเตฟาน เดอ โคนิง – สุดยอดสถาปนิกผู้นำ Innovation เข้ามาผสมผสานในงานออกแบบเพื่อยกระดับ Well-being จาก MVRDV สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองชื่อดังระดับโลก มาแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ “การออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อความเป้นอยู่ที่ดีและยั่งยืน” จากผลงานการออกแบบทั่วโลกที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าชั้นนำ ที่พักอาศัย โครงการมิกซ์ยูส สะพานข้ามถนน ซึ่งเราจะได้เรียนรู้การนำองค์ความรู้และนวัตกรรมเข้ามาผสมผสานในการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน แต่ยังคงความสวยงามร่วมสมัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ – วิศวกรนักซ่อมมนุษย์ ผู้พลิกฟิ้นชีวิตให้ผู้ป่วยอัมพาต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้ในหัวข้อ “อุปกรณ์ควบคุมสมองที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้พิการ” ที่สร้างขึ้นมาจากแรงบันดาลใจ โดยยกตัวอย่างเรื่องการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านคลื่นไฟฟ้าสมองกับวิศวกรรมมาผนวกกันเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเอกที่กลายเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข พร้อมกับเปิดเผยเคล็ดลับวิธีการคิดในการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเกิดความเชื่อมั่น กระตือรือร้น และคิดหาวิธีในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้จากความเชี่ยวชาญของตนเอง จนสามารถนำไปสู่ความสำเร็จ เพื่อให้ทุกคนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

ปิดท้ายด้วยแนวคิดการพัฒนาสิ่งมีชีวิตเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ศาสตราจารย์ ไมเคิล สตีเวน สตราโน – ผู้นำเอนไซม์และโมเลกุลแบบหิ่งห้อยมาพัมนาเป็นต้นไม้เรืองแสง ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนไบโอนิค จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ที่นำเสนอหัวข้อ “การทำงานของพืชเรืองแสงสัมพันธ์กับความยั่งยืนอย่างไร” ผ่านการนำเสนอผลงานการศึกษาและพัฒนาพืชด้วยการพัฒนาเอนไซม์และโมเลกุลที่หิ่งห้อยใช้เปล่งแสงมาเพิ่มขีดความสามารถให้กับต้นไม้ให้ส่องสว่างได้ นับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงานและยังเพิ่มออกซิเจนให้กับโลกอีกด้วย

รศ.ดร.สิงห์ กล่าวสรุปว่า จากกระแสการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าทุกภาคส่วนตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจในการช่วยกันหาทางแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น RISC ในฐานะที่เป็นสถานที่แห่งการแบ่งปันและกระจายองค์ความรู้สู่สังคมที่ทุกคนเข้าถึงได้ พร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ โดยเดินหน้าขับเคลื่อนงาน WATS FORUM ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ให้กลายเป็นเวทีสำคัญของการรวมตัวและเชื่อมโยงกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน ที่พร้อมจะนำองค์ความรู้ใหม่ๆ นำไปปรับใช้และไปต่อยอดงานของตัวเองให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยกันปกป้องโลกของเราให้มีระบบนิเวศที่น่าอยู่อย่างยั่งยินและทุกคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

================

Technopolis มหานครอัจฉริยะ
ทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 13.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32
ติดตามข่าวสารจาก TKNonline
เฟสบุคแฟนเพจ https://www.facebook.com/TKNOnline
Subscribe https://www.youtube.com/TKNonline
และเว็ปไซต์ https://tknonline.com/ http://www.splash-inter.co.th/