Facebook มุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้คนติดต่อและเชื่อมต่อกันอย่างมีความหมาย บนสังคมออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย ขณะที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าไปสู่ยุคสังคมดิจิทัล การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มจึงสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น จากข้อมูลการศึกษาของ YouGov ระบุว่าในประเทศไทย มีเพียงจำนวนร้อยละ 42 และร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า พวกเขามั่นใจว่าตัวเองสามารถระบุข่าวปลอมและโปรไฟล์ปลอมได้
การจัดการกับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงและข่าวปลอม เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการ ภาคประชาสังคมและรัฐบาล รวมถึงองค์กรด้านเทคโนโลยีและสื่อมวลชน โดยส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของ Facebook เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านั้นคือ การนำเสนอเคล็ดลับที่ใช้ได้จริง เพื่อช่วยให้ผู้คนมีทักษะและสามารถสังเกตข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ได้ Facebook จึงร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. เผยเคล็ดลับดังต่อไปนี้ ช่วยให้คุณตรวจสอบข่าวปลอมได้อย่างรอบคอบยิ่งขึ้น และยังช่วยส่งเสริมการสร้างชุมชนดิจิทัลที่ได้รับข้อมูลและข่าวสารที่ครบถ้วนถูกต้องอีกด้วย
1. ศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนการแชร์เสมอ
พิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูล ตรวจสอบเนื้อหาอื่น ๆ ที่ถูกนำเสนออยู่บนเว็บไซต์ แง่มุมในการนำเสนอข่าว และรายละเอียดติดต่ออื่นๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์ นอกจากนี้ คุณควรระวังเว็บไซต์ปลอมที่แสร้งว่าเป็นองค์กรข่าวที่ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งมักจะใช้วิธีเลียนแบบรูปแบบการจัดหน้าและการใช้ URL ที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน
- 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยระบุว่าพวกเขาตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลว่ามาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือหรือไม่
ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้เขียนว่าเป็นบุคคลที่น่าเชื่อหรือมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ และเป็นบุคลากรที่อยู่ในแวดวงการรายงานข่าวมาเป็นระยะเวลามากน้อยอย่างไร นอกจากนี้ คุณยังสามารถตรวจสอบด้วยการอ่านเรื่องราวอื่นๆ ที่เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันได้
ตรวจสอบข้อมูลสนับสนุน ตรวจสอบเสมอว่าข้อมูลประกอบในบทความนั้นสนับสนุนเนื้อหาหลักของเรื่องราวอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือข้อมูลที่ถูกหยิบมาเพียงแค่บางส่วนหรือออกนอกบริบทสามารถนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงได้
- ในประเทศไทย ร้อยละ 41 ตรวจสอบว่าภาพที่อยู่ในบทความมีที่มาจากไหน และร้อยละ 33 ตรวจสอบข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมจากการรายงานหรือข่าวอื่นๆ
ตรวจสอบวันที่ อย่าลืมดูวันที่ที่เนื้อหาถูกตีพิมพ์ เพราะเรามักพบเห็นผู้คนแชร์ “ข่าว” เก่าอยู่บ่อยครั้งบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งข่าวเก่าอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ถูกต้องเสมอไป นอกจากนี้ ข่าวปลอมอาจประกอบด้วยการรายงานช่วงเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลวันที่ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นด้วย
2. อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว
ข่าวปลอมและข่าวที่มีคุณภาพต่ำมักมีการพาดหัวข่าวที่กระตุ้นความรู้สึกเพื่อให้เกิดจำนวนการคลิกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ เนื้อหาของข่าวปลอมมักประกอบด้วยภาษาที่กระตุ้นอารมณ์และบางครั้งอาจเป็นภาษาที่ใช้คำรุนแรง รวมถึงใช้วิธีการเขียนที่ผิดหลักภาษาและมีการสะกดคำผิด
อีกหนึ่งกลวิธีที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่มีคุณภาพต่ำคือ การหาผลประโยชน์จากพฤติกรรม “นักอ่านเวลาน้อย” เมื่อผู้คนมักใช้เวลาอ่านเพียงพาดหัวข่าวหรือข้อความในย่อหน้าแรกก่อนแชร์เรื่องราวนั้นต่อ ผู้ประสงค์ร้ายจึงฉวยโอกาสนี้ด้วยการเขียนพาดหัวข่าวและย่อหน้าแรกที่ตรงไปตรงมาและประกอบด้วยข้อเท็จจริง โดยเรื่องราวส่วนที่เหลือเป็นข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง
- ในประเทศไทย ร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าพวกเขาอ่านบทความจนจบก่อนที่จะแชร์ต่อ
3. แยกแยะระหว่างการแสดงความคิดเห็นและข่าว
คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อส่วนตัวของเรา ก่อนที่คุณจะระบุว่าเรื่องราวใดๆ ‘ไม่เป็นความจริง’ ควรไตร่ตรองให้ดีว่าอคติส่วนตัวของคุณไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวในขณะนั้น
- หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความที่ปรากฏชื่อผู้เขียน (by-line) ควรคำนึงไว้ว่าผู้เขียนคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาทั้งหมด และคุณควรตรวจสอบบทความอื่นๆ ที่ผู้เขียนคนดังกล่าวเขียนด้วย
- หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความแสดงความคิดเห็นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือตัวแทนจากองค์กร (op-ed) ควรคาดการณ์ไว้ก่อนว่าบทความอาจมีเนื้อหาที่ลำเอียงหรือมีอคติ แม้ว่าจะประกอบด้วยข้อเท็จจริง แต่เนื้อหาประเภทนี้มักสะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนหรือหน่วยงานและมีบทสรุปแบบไม่เป็นกลาง
4. คิดเชิงวิเคราะห์
เรื่องราวบางเรื่องถูกจงใจสร้างขึ้นด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้น คุณควรแชร์ข่าวที่คุณมั่นใจว่าเป็นข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้นด้วยการคิดวิเคราะห์และพิจารณาบริบทอย่างละเอียดถี่ถ้วน
- ข่าวปลอมมักจะประกอบด้วยภาพหรือวิดีโอที่ถูกปรับแต่ง ซึ่งในบางครั้ง รูปภาพนั้นอาจเป็นรูปภาพที่แท้จริง แต่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงบริบท คุณสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพนั้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันที่มาที่ถูกต้อง
================
Technopolis มหานครอัจฉริยะ
ทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 13.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32
ติดตามข่าวสารจาก TKNonline
เฟสบุคแฟนเพจ https://www.facebook.com/TKNOnline
Subscribe https://www.youtube.com/TKNonline
และเว็ปไซต์ https://tknonline.com/ http://www.splash-inter.co.th/