D-TECH: พลังงานไฟฟ้าจาก ถ่านชาร์จก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

สภาพแวดล้อมของโลกเลวร้ายลงเรื่อยๆ และคาร์บอนบนชั้นบรรยากาศโลกเป็นตัวการสำคัญ และการจัดการกับปัญหานี้ไม่ได้ง่ายเหมือนในหนังสือการ์ตูน และเมื่อมนุษย์คิดว่ามีวิธีดีๆ ในการจัดการกับการแก้ปัญหาโลกร้อนนี้ สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายจนเกินกว่าจะรับมือด้วยวิธีการนั้นๆ

วิธีแก้ปัญหาโลกร้อนที่เราต้องการนั้น ต้องมีราคาถูก สามารถปรับขนาดได้ และมันต้องสามารถจัดการกับคาร์บอนบนชั้นบรรยากาศได้ปริมาณมากๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลีย อาจเป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติกำลังตามหาอยู่ก็เป็นได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย RMIT ในเมือง เมลเบิร์น ได้สร้างเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถ เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลับกลายเป็นคาร์บอนที่อยู่ในสภาพของแข็ง เพื่อการนำไปใช้งานต่อได้ด้วย การแก้ปัญหาโลกร้อนโดยย้อนคืนวัฏจักรของคาร์บอนที่ทำให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศ เพื่อนำมันกลับลงมาบนพื้นโลกอีกครั้ง นั้นเป็นความฝันของนักวิทยาศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ชาวโลกมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องปัญหาโลกร้อน

และที่ผ่านมาก็มีการนำเสนอหลากหลายวิธีการในการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับลงมาจากชั้นบรรยากาศ อาทิ การดูดก๊าซคาร์บอนมาเก็บไว้ในถังขนาดใหญ่ใต้พื้นดิน ไปจนถึงการเร่งปฏิกิริยาทางเคมี ที่สามรถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ ให้อยู่ในสภาพที่เราสามารถจัดการกับมันได้ง่ายขึ้น ซึ่งบางวิธีการนั้นก็มีต้นทุนต่ำ แต่ให้ผลลัพธ์ที่ช้ามากๆ และบางวิธีการนั้นก็ต้องลงทุนอย่างมหาศาลและไม่มีใครอยากจะเป็นผู้ออกทุนในเรื่องนี้ โดยที่กิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเทคโนโลยีใหม่ในการจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศของนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย นั้นมีข้อดีเหนือวิธีการเก่าๆ อยู่หลายอย่าง ทั้งในเรื่องของการให้ผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว วิธีการไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องใช้ฏิกิริยาทางเคมีที่ซับซ้อน ในการแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กลับมาอยู่ในสภาวะของแข็ง เช่น ถ่านหิน, ถ่านอัดแท่ง, หรือถ่านชาร์จ

โดยวิธีการนี้ ใช้อนุภาคระดับนาโนของโลหะที่มีชื่อเรียกว่า ซีเรียม (Cerium) โดยมันจะทำปฏิกิริยาทางไฟฟ้าเคมี เพื่อดึงอุนภาคออกซิเจน ออกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้ระดับแรงดันไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยในการทำปฏิกิริยา และวิธีการนี้จะดีขึ้นอีกหากใช้โลหะ แกลเลียม (Gallium) เป็นตัวทำละลาย จะทำให้ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นในในสภาวะอุณหภูมิปกติ โดยคุณ Torben Daeneke นักฟิสิกส์จากสถาบัน RMIT กล่าวว่า

“วิธีการของเราแตกต่างจากวิธีการอื่นๆ ที่จะเกิดปฏิกิริยาที่ระดับอุณหภูมิสูง ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ด้วยการใช้โลหะที่อยู่ในสภาวะของเหลวเป็นตัวทำละลาย เราสามารถเปลี่ยนก๊าซให้กลับกลายเป็นคาร์บอน ในสภาพอุณหภูมิห้อง เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถขยายกระบวนการนี้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ตามต้องการ”

คุณ Dorna Esrafilzadeh วิศวกรที่เป็นผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า “ผลพลอยได้จากการกระบวนการนี้ จะทำให้เราได้คาร์บอนที่สามารถเก็บประจุพลังงานไฟฟ้า ทำให้มันมีสภาพเป็นตัวเก็บประจุ (Supercapacitor) เป็นถ่านชาร์จ สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ และแถมกระบวนการนี้ยังทำให้เกิดเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากคาร์บอนอย่าง แกรฟีน (Graphene) ยังเป็นวัตถุดิบที่มีประโยชน์มากสำหรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งโลกอนาคต ไม่ได้มีประโยชน์แค่เพียงเป็น Supercapacitor แต่ยังเป็นตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวด (Superconductor) ได้ด้วย”

และเห็นได้ชัดว่า ความขัดข้องในเรื่องเงินลงทุนเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องความท้าทายทางเทคโนโลยีเสียอีก และไม่ว่าจะเป็การเก็บขยะจำนวนมหาศาลขึ้นจากมหาสมุทร หรือการเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศนั้น เป็นอะไรที่ต้องลงเม็ดเงินอย่างมหาศาล คุณ Dorna Esrafilzadeh กล่าวปิดท้ายว่า

“ต้องมีการทำงานวิจัยในเรื่องนี้กันต่อไป และนี้คือวิธีการที่มีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศ กลับมาอยู่ในสภาวะคาร์บอนที่เป็นของแข็ง เพื่อการนำไปจัดการ หรือนำไปใช้งานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

================

Technopolis มหานครอัจฉริยะ
ทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 – 13.00 น.
ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32
ติดตามข่าวสารจาก TKNonline
เฟสบุคแฟนเพจ https://www.facebook.com/TKNOnline
Subscribe https://www.youtube.com/TKNonline
และเว็ปไซต์ https://tknonline.com/ http://www.splash-inter.co.th/